วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

เที่ยวสุพรรณฉบับครอบครัวกระต่าย

นำเรื่อง

พบกับการเดินทางอีกครั้งหนึ่งของกระต่ายใน“เที่ยวสุพรรณฯ ฉบับครอบครัวกระต่าย” ฉบับนี้ห่างจากการเดินทางไหว้พระ 9 วัดเพียงนิดเดียวเท่านั้น ในโอกาสที่ครอบครัวกระต่ายได้ออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมเพรียงกัน ซึ่งมีโอกาสเพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็อบอุ่น และอบอวลไปด้วยไอรักที่มิอาจลืมเลือน

จุดเริ่มต้น

          แม่ชวนพวกเราทั้งครอบครัว ไปทำบุญบ้านพี่ฝนเพื่อนรุ่นน้องของแม่ที่สุพรรณบุรี หลังช่วงปีใหม่ วันที่ 4-5 ม.ค. 2557 ซึ่งทุกคนไม่มีใครปฏิเสธ คณะเดินทางของเรามี พ่อ แม่ กระต่าย ไก่โต้ง และการ์ตูน เรา 5 คน เดินทางไปด้วยกันโดยมีไก่โต้งเป็นพลขับ เราเดินทางออกจากจังหวัดฉะเชิงเทรามุ่งสู่สุพรรณบุรีในเช้าวันที่ 4 ม.ค. 2557 เวลา 7.00 น.
4 ม.ค. 2557

          บ้านพี่ฝนที่เราเดินทางไปทำบุญอยู่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสามารถเดินทางถึงก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เข้าทางถนนด้านข้างโรงเรียนบรรหาร-แจ่มใส 2 เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ทาสีม่วงอ่อนๆ สดใส เมื่อเราเดินทางมาถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่ฝน และครอบครัว

          เมื่อได้เวลาพระมาถึงทางเจ้าภาพก็ชักชวน บรรดาแขกที่มางานซึ่งอันที่จริงส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว ยกเว้นก็แต่ครอบครัวของเรา และเพื่อนๆ ของลูกหลานเจ้าภาพเท่านั้น ขึ้นไปบนชั้น 2 ของบ้านเพื่อฟังพระสวดมนต์ มีการถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์เมื่อได้รับผ้าแล้ว ก็ลุกขึ้นครองจีวรใหม่ทันที ซึ่งเป็นประเพณีที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ผู้ถวายได้อิ่มบุญกันโดยทั่วหน้า 


พระสงฆ์ครองจีวรใหม่

       หลังจากพระสวดมนต์จนเสร็จทางเจ้าภาพก็ลำเลียงภัตตาหารสำหรับถวายแด่พระสงฆ์ขึ้นมาที่ชั้นบน ประกอบไปด้วยอาหารมากมายหลายชนิด และที่สำคัญคือมีขนมมากมายหลายอย่างทำให้กระต่ายรู้สึกตื่นตาตื่นใจไม่น้อย


ภัตตาหารซึ่งมีขนมหวานมากมายหลายอย่าง

          หลังจากที่พระฉันเสร็จ ก็ได้เวลาที่ฆราวาสจะได้ทานอาหารกันบ้าง หลังจากรับพร และรดน้ำมนต์เรียบร้อย พวกเราก็ทยอยกันลงมาที่โต๊ะตัวใหญ่ด้านล่างซึ่งทางเจ้าภาพจัดไว้ให้เป็นพิเศษ และจัดสำรับกับข้าวไว้ให้อย่างครบครัน มื้อนี้เราจึงอิ่มหมีพีมันกันน่าดู เนื่องจากมื้อเช้าเรากินอาหารเบาๆ คือกะหรี่ปั๊บ กับกาแฟ เท่านั้น

          เสร็จจากบ้านงาน เราออกเดินทางเข้าสู่อำเภอเมือง โดยเลือกที่จะเข้าพักผ่อนที่โรงแรมกันก่อน ซึ่งกระต่ายได้จองโรงแรมไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทาง 2 วัน และได้ทราบจากพนักงานว่าห้องพักค่อนข้างเต็มเนื่องจากตรงกับช่วงที่มีกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 “สุพรรณบุรีเกมส์” ในวันที่ 5-15 ม.ค. 2557 เฉียดฉิวเพียงวันเดียวกับคืนที่เราจองห้องพัก

          เมื่อมาถึง “โรงแรมคุ้มสุพรรณ” เรารับกุญแจห้องที่ล๊อบบี้โรงแรม ห้อง 6039 และ 6041 แล้วขึ้นไปพักผ่อนกันทันที เพราะพ่อ กับแม่ซึ่งเดินทางมาจากระยองตั้งแต่เช้ามืด ค่อนข้างจะเหนื่อยกันพอสมควร พอถึงเตียงนอนก็หลับกันเงียบกริบไปจนถึง 3 โมงเย็น   
          กระต่ายวางแผนไว้ว่าช่วงบ่ายวันนี้เราจะเที่ยวชม “อุทยานมังกร” ซึ่งอยู่ที่เดียวกันกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ในอินเตอร์เน็ตบอกเวลาเข้าชม 10.00-16.00 น. เราจึงรีบเดินทางโดยด่วนเพราะเกรงจะเกินเวลา

         เมื่อเดินทางมาถึงกระต่ายเห็นมังกรขนาดยักษ์สีสันสวยงาม ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างแบบจีนที่รายล้อมอยู่รอบบริเวณ ไก่โต้งพาเราอ้อมมายังบริเวนที่จอดรถ แล้วจึงเดินเข้าทางอุทยานมังกร ซึ่งมีร้านค้าสร้างเหมือนในภาพยนตร์จีนกำลังภายใน แต่เรายังไม่ให้ความสนใจ เนื่องจากเวลามีน้อยจึงรีบเข้าไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกันก่อน



พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร


          กระต่ายเดินผ่านกังหันน้ำ ซึ่งตีน้ำเป็นละอองฝอยเย็นฉ่ำ และมีควันจางๆ ลอยขึ้นมา ในใจก็นึกนิยมคุณบรรหารที่ช่างมีความคิดอันเยี่ยมยอดในการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นมาประดับบ้านเกิดเมืองนอนได้ดีขนาดนี้

       จากกังหันน้ำกระต่ายเดินเลี้ยวไปทางซ้ายจึงมองเห็นรูปปั้นมังกรแบบเต็มๆ ตัว ดูสวยงามสมสัดส่วนข้างใต้มังกรมีพิพิธภัณฑ์ ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร” พวกเราเดินเข้าไปไหว้ศาลหลักเมืองกันก่อน เราซื้อธูปหอม 1 ห่อ เทียนสีแดง 1 คู่ และกล้วยไม้ 1 กำ นำมาไหว้รวมกัน อันที่จริงธูปหอมหนึ่งห่อ ทางศาลเจ้าให้ใช้ปักในกระถางธูปตามจำนวนที่กำหนด โดยกระถางธูปแต่ละใบติดตัวเลขลำดับ และจำนวนธูปที่จะปักไว้ให้ทราบ





















กังหันน้ำ



จุดเทียนแดง


เจ้าพ่อหลักเมือง


กระถางธูปใบที่ 6 ปักธูป 3 ดอก


           มื่อไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกันเรียบร้อย เราก็เดินชมบริเวณด้านข้าง ซึ่งมีรูปปั้น 12 นักษัตร เราจึงผลัดกันถ่ายภาพคู่กับนักษัตรของแต่ละคน พ่อ กับแม่ เกิดปีฉลู จึงถ่ายภาพคู่กับรูปปั้นวัวตั้งแต่หัวแถว โต้งกับตูนถ่ายภาพคู่กับแพะ เพราะเกิดปีมะแม ส่วนกระต่ายเกิดปีมะเมียอยู่คนเดียวจึงถ่ายภาพคู่กับรูปปั้นม้า 


คนปีวัว

        เราเตร็ดเตร่ถ่ายรูปได้ซักพัก ก็ได้ยินเสียงประกาศเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร แม่เห็นว่าน่าสนใจดี จึงไปซื้อตั๋วที่ตู้จำหน่ายด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ สนนราคาใบละ 299 บาท ให้กับพวกเราทั้งหมด จากนั้นก็เข้าไปด้านในตัวอาคารซึ่งเป็นฐานของรูปปั้นมังกรเพื่อรอเข้าชมด้านใน พนักงานนำถุงสีน้ำเงินใสมาให้เราใส่หุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นภายในพิพิธภัณฑ์เกิดความสกปรกเสียหาย


พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร


กระต่ายใส่ถุงหุ้มรองเท้าเรียบร้อย

ห้องที่ 1 ความเป็นมาในการสร้าง

     จากนั้นจึงมีพนักงานผู้หญิง ใส่ชุดคอจีนสีแดงสดนำเราเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ โดยห้องแรกที่เข้าชมนั้นมีเก้าอี้ให้นั่งชมภาพยนตร์เกี่ยวกับความเป็นมาในการสร้างพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ซึ่งเป็นแนวคิดของคุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ในภาพยนตร์เป็นการ์ตูนภาพคุณบรรหาร และลูกสาว พูดคุยกันถึงเรื่องการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน  ครบรอบ 20 ปี 


ตัวการ์ตูนคุณบรรหาร และลูกสาว

     จากนั้นพนักงานนำเราออกมาจากห้อง แล้วพาเดินไปยังทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งที่ริมประตูมีมังกรทองคำตั้งแสดงไว้ ของชิ้นนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของคุณบรรหาร ที่ให้นำมาตั้งแสดงเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้



มังกรทองคำ

ห้องที่ 2 ห้องเทพนิยาย (กำเนิดโลก)

           ผู้บรรยายนำเราเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ห้องแรก ภายในห้องค่อนข้างมืดมีรูปปั้นเทพผานกู่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้า มีเสียงบรรยายถึงตำนานเทพผู้สร้างโลกในความเชื่อของชาวจีน พร้อมทั้งมีการฉายภาพเทพผานกู่บนผนังด้านข้างรูปปั้น กล่าวถึงการสร้างโลกว่าเดิมทีโลกมีสัณฐานกลมเหมือนไข่ภายในมีเทพผานกู่ เมื่อเทพผานกู่ตื่นขึ้นก็ใช้ขวานยักษ์โถมฟาดสุดแรง ทำให้ฟองไข่แตกออกแล้วยืดตัวใช้พละกำลังดันผืนดิน และแผ่นฟ้าให้แยกจากกัน โดยยืนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานถึง 18,000 ปี จนทั้งสองส่วนไม่สามารถจะรวมกันได้อีก และเทพผานกู่ก็สิ้นใจ ลมหายใจทอดไปเป็นสายลม ตาข้างซ้ายหลุดออกมากลายเป็นพระอาทิตย์ ตาข้างขวากลายเป็นพระจันทร์ ร่างกายกลายเป็นภูเขา เลือดกลายเป็นแม่น้ำ ผม และหนวดเครากลายเป็นต้นไม้ ฟ้าดิน และจักรวาลจึงถือกำเนิดขึ้นดังที่ได้กล่าวมานี้ โดยเปรียบเทียบได้กับการที่เรามีผืนแผ่นดินอยู่อาศัยได้ก็ด้วยบรรพบุรุษแลกมาด้วยเลือดเนื้อ และชีวิต ดังนั้นจึงควรที่จะหวงแหนรักษาไว้ให้ลูกหลานของเราสืบไป 


การสร้างโลกของผานกู่

ห้องที่ 3 ห้องเทพนิยาย (กำเนิดมนุษย์)

      เมื่อมีโลกแล้วก็ต้องมีมนุษย์ ซึ่งในความเชื่อของชาวจีนซึ่งถือว่าตนมีประชากรมากที่สุดในโลก เชื่อว่ามนุษย์เกิดจากการที่เทพธิดาหนี่วานำดินจากแม่น้ำเหลืองมาปั้นเป็นมนุษย์คู่แรก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นผิวพรรณของชาวจีนจึงมีสีเหลือง ด้านหนึ่งของห้องมีขวดโหลใส่น้ำตั้งแสดงอยู่ เขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นน้ำจากแม่น้ำเหลือง กระต่ายก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างจะมีสีเหลืองสมกับที่มีชื่อว่าแม่น้ำเหลืองซะจริงๆ 


เทพธิดาหนี่วา



น้ำจากแม่น้ำเหลือง


ห้องที่ 4 ห้องตำนาน (เสินหนง)


      ผู้บรรยายนำชมทางซ้ายของห้องก่อน มีรูปปั้นคนมีหนวดเคราขนาดเล็ก เดินอยู่ในป่า ในมือถือสมุนไพร เขามีชื่อว่า “เสินหนง” เป็นบิดาแห่งการเกษตร เขาชิมสมุนไพรต่างๆ เพื่อทดลองใช้กับมนุษย์ และเป็นผู้ค้นพบชาเป็นคนแรก ชาวจีนจึงนิยมดื่มชาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


เสินหนง


อักษรจีนคำว่าชา 3 แบบ


ห้องที่ 5 ห้องตำนาน (ปฐมกษัตริย์) 

          ตรงกลางห้องมีรูปปั้นคนขนาดใหญ่ 2 คน รูปปั้นนี้หมุนได้อัตโนมัติแทนจักรพรรดิโบราณ คือเอี๋ยนตี้ และหวงตี้ ซึ่งเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว แบ่งพื้นที่ทำกินกัน 2 ฝั่งแม่น้ำและทำสงครามกันอยู่เสมอ แต่สุดท้ายร่วมกันสร้างชาติจีนขึ้นมาจนสำเร็จ ชาวจีนเรียกตนเองว่าลูกหลานเอี๋ยนหวง ในปัจจุบันหลุมศพของท่านทั้ง 2 ได้รับการเซ่นไหว้ในฐานะบรรพบุรุษของชนชาติสืบมา


ซ้ายเอี๋ยนตี้ ขวาหวงตี้


          หนังสือบางเล่มกล่าวว่าหวงตี้ชนะสงคราม และได้รับการนับถือว่าเป็นฮ่องเต้องค์แรกของจีน จึงเป็นที่มาของการเรียกจักรพรรดิว่าหวงตี้ หรือที่ชาวไทยเราเรียกว่าฮ่องเต้นั่นเอง


ป้ายสุสานหวงตี้


       ด้านขวาสุดจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์เข็มทิศ และอาวุธโบราณ เรียงรายไว้ให้ชม 


รถเข็มทิศ


อาวุธโบราณ

ห้องที่ 6 ห้องราชวงศ์เซี่ย-ซาง : ตำนานปลาหลีฮื้อ กลายเป็นมังกร

         ที่พื้นห้องจำลองเป็นน้ำที่มีปลาหลีฮื้อว่ายวนไปมา เป็นภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงที่สวยงามมาก บนเพดานมีมังกรสีทองพาดยาวตลอดแนว  เรื่องราวมีอยู่ว่าเมื่อ 4,000 ปี ก่อน “อวี่” ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ป้องกันภัยน้ำท่วม โดยใช้วิธีขุดทางระบายน้ำแทนการสร้างเขื่อน ตรากตรำนานถึง 13 ปี ต้องสกัดภูเขาเปิดเป็นช่องทางให้น้ำไหลลงต่ำไปสู่ทะเล ชาวจีนยกย่องให้ท่านเป็น “ต้าอวี่” แปลว่าอวี่ผู้ยิ่งใหญ่ และเรียกช่องเขานั้นว่า “หลงเหมิน” หรือประตูมังกร ปลาหลีฮื้อตัวใดที่พากเพียรว่ายทวนน้ำดีดตัวข้ามประตูมังกรไปได้ก็จะกลายเป็นมังกร บรรยายมาถึงตรงนี้ มังกรที่ทอดยาวอยู่ข้างบนก็ขยับตัวส่ายไปมาส่งเสียงเหมือนมีชีวิต เปรียบกับคนที่มีความพากเพียรย่อมได้รับผลดีอันยิ่งใหญ่ตามมาในที่สุด




พื้นจำลองที่มีปลาหลีฮื้อว่ายน้ำเคลื่อนไหวไปมา 


ต้าอวี่


มังกรทองบนเพดาน

        ผู้บรรยายชักชวนให้ผู้เข้าชมขึ้นมายืนจับปลา โดยบอกให้จับแล้วก็เอาใส่กระเป๋าจะได้โชคดีรับปีใหม่ มีเด็กเล็กๆ หลายคนขึ้นมาจับปลากันสนุกสนาน แม้จะเป็นเพียงภาพเคลื่อนไหว แต่เด็กๆ ก็ไล่ไขว่คว้าเล่นกันอย่างเมามัน

ห้องที่ 7 ห้องราชวงศ์โจว ยุคแห่งนักคิด นักปราชญ์ ร้อยสำนักประชัน

    ห้องนี้ให้เราเข้าไปนั่งเก้าอี้กลางห้อง แล้วพื้นก็จะหมุนไปรอบๆ พาเราชมเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ซึ่งเป็นรูปปั้นเล็กๆ ในตู้กระจก

1. ซุนอู่ ผู้แต่งตำราพิชัยสงคราม รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง


การจัดทัพตามแบบพิชัยสงครามของซุนอู่


2. ไซซี 1 ใน 4 หญิงงาม ผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า มัจฉาจมวารี นางไซซี ถูกนำมาเป็นบรรณาการให้แก่อ๋องรัฐอู่ เพื่อมอมเมาให้อู่อ๋องฟูซาลุ่มหลง ทำให้แพ้สงครามรัฐเยว่ จากนั้นนางก็หายไปพร้อมกับอำมาตย์ฟ่านหลีหลีกเร้นเข้าป่าใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุข


ไซซี


ไซซี และอำมาตย์ฟ่านหลี

3. ขงจื้อ ผู้สอนให้มนุษย์ ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก



ขงจื้อกำลังสั่งสอนศิษย์


รูปปั้นของขงจื้อ

4. ชวีหยวน กวีผู้รักชาติ ต้นกำเนิดขนมบะจ่าง และประเพณีการแข่งขันเรือมังกร

ในสมัยจั้นกว๋อ (ราวก่อนค.ศ. 403 - 211) กษัตริย์ฉู่เซียนอ๋อง ทรงโปรดปรานขุนนางกังฉินเป็นอย่างมาก ต่อมา กวีผู้รักชาตินาม "ชวีหยวน" ได้พูดเตือนพระองค์ ทำให้ชวีหยวนถูกปลดจากตำแหน่ง และถูกไล่ออกจากเมืองหลวง นอกจากนี้ รัฐฉินยังถูกรัฐฉู่เข้ารุกรานจนประเทศล่มสลาย ประชาชนยากไร้ ชวีหยวนรู้สึกอดสูแก่ใจที่ไม่อาจช่วยเหลือประเทศชาติได้จึงผูกตัวเองกับก้อนหินแล้วกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
เมื่อชาวบ้านที่นับถือในตัวชวีหยวนทราบเรื่องเข้า ก็ช่วยกันหาศพของชวีหยวน แต่ก็ไม่พบ และเพื่อเป็นการระลึกถึงความรักชาติของชวีหยวน พวกชาวบ้านจึงได้มีการโยนบะจ่างลงในน้ำ เพื่อให้บรรดาสัตว์น้ำ เช่นปลา และมังกรไม่ต้องไปกินศพของชวีหยวน แต่มากินบะจ่างแทน
จึงถือเป็นวันเทศกาลสารทขนมจ้าง (หรือบ๊ะจ่าง) และก็มีการแข่งเรือมังกรด้วย ประเพณีนี้ยังคงมีปฏิบัติสืบต่อกันมาในวันที่ 5 เดือน 5 ของทุก ๆ ปี ตลอดระยะเวลา สองพันกว่าปีมานี้ และก็ได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มลายู รวมถึงดินแดนสุวรรณภูมิด้วย



ชวีหยวนกระโดดน้ำตาย



ชาวบ้านช่วยกันค้นหาศพ


การทำขนมบะจ่าง

5. เล่าจื้อ ผู้ให้กำเนิดลัทธิเต๋า แต่งตำราชื่อว่า เต้าเต๋อจิงเขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีสิ่งตรงกันข้าม เช่น ภัยและโชค มีและไม่มี เกิดและดับ สูงส่งและต้อยต่ำ บนและล่าง เข้มแข็งและอ่อนแอ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปได้
          ภายหลังราชสำนักเสื่อมถอยเล่าจื้อลาออกจากราชการขี่ควายออกท่องเที่ยวหายไปอย่างไร้ร่องรอย


เล่าจื้อขี่ควายท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง

ห้องที่ 8 ห้องราชวงศ์ฉิน : จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกในประวัติศาสตร์

         ภายในห้องนี้มีรูปปั้นของจักรพรรดิ “จิ๋นซีฮ่องเต้” และแบบจำลองกำแพงเมืองจีนทางฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายมีตุ๊กตาทหารดินเผาในสุสานของจิ๋นซีย่อส่วนอยู่ใต้พื้นกระจก เราชมวีดีทัศน์บรรยายเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ เกี่ยวกับการประดิษฐ์อักษรจีน การปราบก๊กต่างๆ เพื่อรวมจีนขึ้นเป็นชาติ การเชื่อมกำแพงเมืองของก๊กต่างๆ ที่สร้างไว้แล้วยาวนับหมื่นลี้ เพื่อใช้ป้องกันการรุกราน โดยมีการส่งสัญญาณควันไฟระหว่างป้อมบนกำแพง เมื่อบรรยายมาถึงตรงนี้กำแพงจำลองก็มีไฟติดขึ้นระหว่างป้อมยามบนกำแพง และมีควันขึ้นอบอวล
       สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในปัจจุบันยังมิได้ขุดถึงตรงส่วนที่ฝังพระศพ ได้แต่เพียงขุดตามรอบนอกพบตุ๊กตาดินเผาจำนวนมาก ซึ่งแต่ละตัวมีหน้าตาที่แตกต่างกันทั้งหมด เมื่อขุดพบใหม่ๆ ตุ๊กตามีสีสันสวยงาม แต่เมื่อถูกอากาศสีของตุ๊กตาก็หายไปกลายเป็นสีของดินเผาธรรมดาใน 24 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามที่จะคิดค้นวิธีการคงสภาพของโบราณวัตถุให้ได้เสียก่อนจึงจะทำการขุดสุสานต่อไป   


กำแพงเมืองจีนจำลอง


ตุ๊กตาดินเผาใต้พื้นกระจก



รูปปั้นจิ๋นซีฮ่องเต้


หุ่นดินเผาที่ยังมีสีสัน  http://www.meetaweetour.co.th



หุ่นดินเผาที่สีจางไปแล้ว  
http://www.meetaweetour.co.th

ห้องที่ 9 ห้องราวงศ์ฮั่น : ยุคแห่งความรุ่งเรือง และความภาคภูมิใจ

       ในฉากนี้มีพระสองรูปเดินจูงม้าสีขาว พระรูปแรก และม้าขาวเป็นหุ่นขี้ผึ้ง ส่วนพระอีกรูปหนึ่งอยู่ในรูปภาพ ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบประตู มีม้าแกะสลักด้วยหินขนาดพอเหมาะคู่หนึ่งตั้งอยู่ด้านหน้า พระองค์นี้คือพระกาศยปมาตังคะ และพระธรรมรักษ์ ผู้เชิญพระไตรปิฎกมาจากประเทศอินเดีย ส่วนซุ้มประตูคือนวัดแป๊ะเบ๊ยี่ แปลเป็นไทยว่า วัดม้าขาว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าตัวที่บรรทุกพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากับพระเถระทั้งสอง เป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธในประเทศจีน จากนั้นมีฉากสีขาวเลื่อนมาบังหุ่นขี้ผึ้ง แล้วฉายภาพวัดม้าขาวที่มีอยู่จริงในประเทศจีนให้ชม










พระผู้เชิญพระไตรปิฎกจากอินเดีย



วัดม้าขาว


ฉากรอบนอก

      ในสมัยฮั่นยังมีการเดินทางตามเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมต่อการค้าของโลกยุคโบราณ และเป็นยุคแห่งการค้นพบวิธีทำกระดาษโดยขันทีนามว่าไช่หลุน  มีครั้งหนึ่งกระดาษมีสีคล้ำเพราะผลิตผิดกรรมวิธี แทนที่จะนำไปเผาทำลายโดยเปล่าประโยชน์ ไช่หลุนใช้กระดาษเหล่านี้โดยให้นำมาเผาไฟให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ จึงกลายเป็นประเพณีเผากระดาษเงินกระดาษทองของชาวจีนตราบจนถึงปัจจุบัน


เส้นทางสายไหม


การทำกระดาษของไช่หลุน

ในยุคนี้ยังปรากฏหญิงงามอีกนางหนึ่งคือ หวังเจาจวิน ผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า ปักษีตกนภาหวังเจาจวิน ถูกส่งตัวไปเป็นนางกำนัลในวัง แต่ฮ่องเต้ไม่เคยทรงเห็นนางเลย เพราะนางไม่ได้ติดสินบนแก่ขันทีให้วาดรูปแสดงความงามที่แท้จริง ต่อมาเมื่อเผ่าซ่งหนูเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีตามธรรมเนียม ฮ่องเต้จึงมอบหวังเจาจวิน พร้อมทั้งนางกำนัลอีก 4 นาง ให้กับหูฮันเซีย ผู้นำเผ่าซ่งหนู ในวันที่ส่งนางออกเดินทาง ทั้งฮ่องเต้ และขุนนางต่างตกตะลึงในความงาม และเสียดายเป็นอย่างยิ่ง


หวังเจาจวิน

ห้องที่ 10 ห้องสามก๊ก 


        ในห้องนี้มีหุ่นขี้ผึ้งของกวนอู่ตั้งเด่นเป็นสง่าเห็นมาแต่ไกล คู่กับขงเบ้ง ผู้บรรยายให้เรานั่งบนขั้นบันไดด้านหน้าหุ่นขี้ผึ้งเพื่อชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับยุคสามก๊ก ซึ่งเป็นเรื่องราวความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น โดยมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างก๊กทั้ง 3 คือ วุยก๊ก (โจโฉ) จ๊กก๊ก (เล่าปี่) และง่อก๊ก (ซุนกวน) โดยกล่าวถึงฉากสำคัญในเรื่องคือ “สาบานในสวนท้อ” เป็นฉากร่วมสาบานของเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย อันเป็นฉากประทับใจในเรื่อง มีไฟสว่างขึ้นตรงตุ๊กตาเล็กๆ ในกรอบด้านบนทางขวามือ


ขงเบ้ง และกวนอู


(จากซ้าย) เตียวหุย เล่าปี่ และกวนอู

         อีกฉากสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในที่นี้คือ “ยุทธการผาแดง” ซึ่งมีที่มาจากการที่โจโฉยุยงฮ่องเต้ให้ส่งทหารไปปราบ ง่อก๊ก และจ๊กก๊ก เพื่อรวมประเทศจีนให้เป็น 1 เดียว ดังนั้นเล่าปี่ และซุนกวนจึงร่วมมือกันต่อสู้กับโจโฉ โดยขงเบ้งคำนวณทิศทางลมให้พัดไปทางกองเรือของโจโฉ แล้วจุดไฟเผาเรือทั้งหมดจนทำให้โจโฉต้องพ่ายแพ้กลับไป ฉากนี้นับว่าสร้างได้ดีมาก ขณะที่วีดีทัศน์กำลังฉายภาพขงเบ้งตวัดพัด ก็มีลมแรงพัดมาปะทะตัวเรา และฉากด้านหน้าซึ่งเป็นกองเรือของโจโฉก็เสมือนว่ามีไฟลุกแดงขึ้นมาทันที มีเสียง   โกลาหน และเสียงไฟลุกไหม้พร้อมกับมีลมร้อนพัดวูบมาแทนลมเย็นเมื่อสักครู่ พวกเรานั่งดูกันอย่างตื่นตาตื่นใจ แม่บอกว่า “ไปดูที่เมืองจีนยังสู้ไม่ได้เลยนะเนี่ย”


ฉากไฟไหม้กองทัพเรือของโจโฉ

     เมื่อจบฉากไฟไหม้ เรื่องราวก็ดำเนินต่อไปอีกตรงที่ว่าขงเบ้งสั่งให้กวนอูตามไปจับตัวโจโฉ ทั้งที่รู้ว่าโจโฉเคยมีบุญคุณไว้ชีวิตกวนอูมาแล้วครั้งหนึ่ง การณ์จะไม่สำเร็จ แต่ก็เพื่อที่จะให้กวนอูได้สนองคุณโจโฉเป็นการตอบแทน จะได้ไม่ติดค้างบุญคุณกันอีกต่อไป เรื่องนี้แสดงถึงคุณธรรมความกตัญญูที่ควรตอบแทนผู้มีพระคุณ

ห้องที่ 11 ห้องราชวงศ์สุย 

          ราชวงศ์สุยปกครองประเทศจีนในช่วงสั้นๆ มีผลงานที่สำคัญคือการขุดคลอง ต้าอวิ่นเหอ” ยาวนับพันกิโลเมตร ถือเป็นคลองขุดที่ยาวที่สุดในประเทศจีน เพื่อเป็นเส้นทางประพาสของฮ่องเต้ กระทั่งกลายเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญในเวลาต่อมา ในฉากนี้มีเรือแขวนกลับหัวไว้บนเพดาน แสดงให้เห็นถึงความคิดอันพิสดารของฮ่องเต้ราชวงศ์สุย   
   

เรือมังกรแขวนกลับหัวบนเพดาน

ห้องที่ 12 ห้องราชวงศ์ถัง


     มีการฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับวัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของจีน และเรื่องราวของปรมาจารย์ตั๊กม้อ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นฉบับของท่ารำมวยจีน เล่าว่าปรมาจารย์ตั๊กม้อเข้าฌานนานหลายปี เมื่อออกจากสมาธิท่านบิดกายไล่ความเมื่อขบ เป็นท่าทางต่างๆ จึงนำมาประยุกต์เป็นท่ารำมวยจีนจนถึงปัจจุบัน 


ปรมาจารย์ตั๊กม้อ



มวยจีนวัดเส้าหลิน

    เมื่อวีดีทัศน์จบผู้บรรยายชักชวนให้ผู้เข้าชมเข้าไปในถ้ำจำลองด้านข้าง ให้ลองส่องดูตรงตาแมวจะมองเห็นท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ ทุกคนพากันเข้าคิวดูกันใหญ่ พอดูเสร็จต่างก็แยกย้ายออกมาไม่มีใครเฉลยว่ามีอะไร กระต่ายจึงไปส่องดูบ้าง พบว่ามีภาพมวยจีนฉายอยู่ข้างใน โดยเปลี่ยนท่าทางไปเรื่อยๆ เหมือนกับภาพที่อยู่บนกำแพงนั่นเอง


ไก่โต้งก็ไปส่องดูเหมือนกัน

นอกจากเรื่องราวของวัดเส้าหลินในสมัยราชวงศ์ถังยังมีฮ่องเต้หญิงองค์แรกก็คือ “บูเช็คเทียน” ซึ่งเป็นฮองเฮาของฮ่องเต้ถังไท่จง และถังเกาจง พระนางสร้างพระพุทธรูปแกะสลักไว้บนหน้าผาซึ่งมีพระพักตร์คล้ายกับพระนางเองไว้องค์หนึ่งนามว่าพระโวโรจนะ


บูเช็กเทียนฮ่องเต้หญิงองค์แรก และองค์เดียวของจีน


พระโวโรจนะ


บูเช็คเทียน

หญิงงามของจีนคนที่ 3 ก็ปรากฏขึ้นในสมัยนี้ คือ หยางกุ้ยเฟย หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า มวลผกาละอายนาง



หยางกุ้ยเฟย


ห้องที่ 13 ห้องราชวงศ์ซ่งเหนีอ (เป้าบุ้นจิ้น) 


ในห้องมีหุ่นขี้ผึ้งเปาบุ้นจิ้น กำลังนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีอยู่ในศาลไคฟง แวดล้อมด้วยข้าราชการ และจำเลยที่กำลังจะถูกประหารด้วยเครื่องประหารหัวมังกร ในคดีประหารราชบุตรเขย เครื่องประหารของศาลไคฟงมี 3 แบบคือ 1. เครื่องประหารหัวมังกร สำหรับใช้ประหารราชวงศ์ 2. เครื่องประหารหัวพยัคฆ์สำหรับประหารขุนนางข้าราชการ 3. เครื่องประหารหัวสุนัข สำหรับประหารประชาชนทั่วไป ขณะกำลังฟังบรรยายอยู่เพลินๆ ก็มีเสียงดังก้องขึ้นว่า “ประหาร” ทำให้กระต่ายสะดุ้งเล็กน้อย พร้อมกับที่ไม้ติ้วสีแดงถูกโยนจากมือหุ่นเปาบุ้นจิ้นลงมาที่พื้น หุ่นเพชฌฆาตก็ลงมีดฉับ แต่ไม่โดนคอของหุ่นราชบุตรเขย เพียงแต่อุปมาว่าถูกประหารเท่านั้น 


ฉากประหารราชบุตรเขย


ห้องที่ 14 ราชวงศ์ซ่งใต้  (งักฮุย) 


แสดงหุ่นขี้ผึ้งของแม่ทัพ “งักฮุย” ซึ่งเป็นผู้ภักดีต่อชาติ หุ่นชุดแรกเป็นงักฮุ่ยคุกเข่าให้มารดาสักอักษร จิ้นจงเป้ากั๋ว (รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ) 



มารดาสักอักษร จิ้นจงเป้ากั๋ว (รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ)


หุ่นชุดที่ 2 งักฮุยรับราชโองการฮ่องเต้ซ่งเกาจงให้ถอนทัพ ทั้งที่กำลังจะได้รับชัยชนะ เพราะฮ่องเต้ถูกฉินฮุ่ย และภรรยายุแยง จึงส่งราชโองการให้ถอยทัพมาถึง 12 ครั้ง



งักฮุยรับราชโองการ

เมื่อกลับเข้าเมืองก็ถูกฉินฮุ่ย และภรรยาใส่ร้ายจนถูกประหารชีวิต ชาวบ้านที่เคารพรักงักฮุยนำศพของเขามาฝังที่ริมแม่น้ำซีหูที่เมืองหังโจว และด้วยความโกรธแค้นฉินฮุ่ย และภรรยา จึงหล่อรูปปั้นของคนทั้งคู่คุกเข่าขอโทษไว้ที่หน้าหลุมศพของงักฮุย แล้วพากันทุบตีถ่มถุยน้ำลายเพื่อระบายความแค้น ผู้บรรยายนำชมหุ่นฉินฮุ่ย และภรรยา บอกพวกเราว่าสามารถทุบตีได้ตามสบาย แต่ห้ามถ่มถุยเด็ดขาด
กระต่าย และแม่เคยได้เห็นได้เห็นรูปปั้นฉินฮุ่ย และภรรยาของจริงมาแล้ว ที่สุสานงักฮุยในเมืองหังโจว ในการเดินทางไปเที่ยวประเทศจีนครั้งแรกของเรา 2 แม่ลูก จึงแอบยิ้มพยักเพยิดให้กันนิดหน่อยว่าเรื่องนี้เรารู้แล้ว
          ชาวจีนยังนวดแป้ง 2 ชิ้นนำมาติดคู่กันแทนฉินฮุ่ย และภรรยา แล้วทอดในน้ำมันร้อนๆ ฉีกกินเพื่อระบายความแค้นอีกด้วย จึงเป็นที่มาของปาท่องโก๋ด้วยประการฉะนี้ 



ฉินฮุ่ย และภรรยา


ป้ายสุสานงักฮุย

ห้องที่่ 15 ห้องราชวงศ์หยวน


ห้องนี้มีสะพานมาโคโปโลจำลองมาจากของจริงที่กรุงปักกิ่ง ให้เราเดินเข้ามาหยุดชมวีดีทัศน์ตรงกลางสะพาน ซึ่งด้านล่างสะพานมีบ้านจำลองขนาดเล็กแน่นขนัดมองเห็นได้ทั้งจากกระจกใสตรงกลางสะพาน และถัดจากตัวสะพานออกไป 


สะพานมาโคโปโล


บ้านเรือน 2 ฝั่งแม่น้ำ ข้างใต้สะพาน

วีดีทัศน์แสดงเรื่องราวของชาวจีนซึ่งถูกปกครองโดยราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกลอย่างไม่ยุติธรรม (ชาวจีนส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น) เมื่อถูกกดขี่ข่มเหงจนทนไม่ได้จึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะต่อต้าน บนเพดานมีพระจันทร์จำลองหมุนจนกระทั่งเต็มดวง แล้วจึงฉายภาพการดำเนินการนัดแนะกันผ่านทางจดหมายที่สอดไว้ในขนม แล้วส่งให้แก่กันเพื่อบอกแผนในการโค่นล้มราชวงศ์หยวน เป็นที่มาของเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์


พระจันทร์หมุนไปเรื่อยๆ


สอดจดหมายลับในขนม

ห้องที่ 16 ห้องราชวงศ์หมิง (เจิ้งเหอ)

ห้องนี้มีหุ่นขี้ผึ้งที่ดูคุ้นตาซึ่งก็คือ ขันทีนามว่า “เจิ้งเหอ” ซึ่งเดินเรือออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศถึง 7 ครั้ง รวมถึงเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระรามราชาธิราช ราชวงศ์อู่ทอง เจิ้งเหอพบทวีป อเมริกาก่อนโคลัมบัสนานถึง 71 ปี และชาวยุโรปในสมัยนั้นต่างก็เดินเรือโดยใช้แผนที่ของชาวจีน
ผู้บรรยายบอกกับเราว่าให้ยืนอยู่ในบริเวณพื้นด้านในของห้อง เนื่องจากขณะที่บรรยายมาถึงเวลาที่เจิ้งเหอออกเรือ พื้นก็โคลงเคลงคล้ายกับเวลาที่เราลงไปยืนบนเรือจริงๆ ขนาดแม่ยังเป็นห่วงกลัวว่าไก่โต้งจะเมาเรือ
เจิ้งเหอรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ “ซำปอกง” ซึ่งไปซ้ำกับชื่อของวัดไทยหลายวัดด้วยกัน เช่นวัดพนัญเชิง วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น  ซึ่งล้วนมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานในวิหารเช่นเดียวกัน  มีนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามีชาวจีนที่มีความศรัทธาเขียนภาษาจีนไว้ว่า “ซำปอฮุดกง” ซึ่งแปลว่า พระเจ้า 3 พระองค์ หมายถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แต่ชาวจีนบางคนมาเห็นแล้วเข้าใจผิดคิดว่าวัดเป็นที่เซ่นไหว้ซำปอกง แล้วก็เรียกตามกันอย่างนั้นเรื่อยมา ทั้งที่จริงแล้วเจิ้งเหอ ซำปอกงนั้นมีเชื้อสายเป็นมุสลิม แต่ประวัติศาสตร์ก็ผ่านมายาวนานจนไม่รู้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ผู้บรรยายเองก็เรียกซำปอกงในที่นี้กับที่วัดพนัญเชิง และวัดกัลยาณมิตร เป็นอย่างเดียวกัน


เจิ้งเหอ ซำปอกง

กระต่ายสันนิษฐานอีกทางหนึ่งว่าวัดที่มีชื่อเรียกว่าซำปอกงนั้นมักจะตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ และเจิ้งเหอ ซำปอกงนั้นชาวจีนนับถือว่าเป็นเทพซำปอกง ดังนั้นวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็อาจได้รับการอุปมาว่าเป็นเสมือนที่สถิตย์ของเทพเจ้าซำปอกง ซึ่งได้รับการสักการะว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการเดินเรือและมักจะสร้างพระประธานองค์ใหญ่ก็เพื่อที่จะได้สามารถมองเห็นมาแต่ไกลจากในเรือ ก็อาจเป็นไปได้


บนเรือมีหีบไม้ใส่สมบัติที่นำไปกำนัลแก่แว่นแคว้นต่างๆ ที่ไปเยือน

ห้องที่ 17 ห้องราชวงศ์หมิง (เครื่องลายคราม)


ในอีกห้องหนึ่งของราชวงศ์ถังมีเครื่องลายครามตั้งแสดงอยู่ และมีพระบรมฉายาลักษณ์ฮ่องเต้หย่งเจิ้นที่ผนังด้านหนึ่ง เนื่องจากพระองค์เป็นผู้สั่งให้เจิ้งเหอออกเดินทางสำรวจทางทะเลนั่นเอง


เครื่องลายคราม


ฮ่องเต้ย่งเจิ้น

ห้องที่ 18 ห้องราชวงศ์ชิง (โรงงิ้ว โรงฝิ่น) 


ห้องนี้มีสีสันฉูดฉาดจากตุ๊กตางิ้วที่ตั้งอยู่บนเวทียกพื้นเตี้ยๆ ตุ๊กตากลเคลื่อนไหวแสดงงิ้วเรื่องขุนศึกตระกูลหยางให้เราชมนิดหน่อยพอสนุก โดยมีทั้งเสียงร้อง และการเคลื่อนไหว งิ้วเป็นอุปรากรที่แพร่หลายมากในสมัยราชวงศ์ชิงทั้งใน และนอกราชสำนัก และยังได้รับการยกย่องให้เป็นนาฏศิลป์สำคัญแขนงหนึ่งของโลก 


ตุ๊กตากลแสดงงิ้วเรื่องขุนศึกตระกูลหยาง


     การแสดงงิ้วเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ และยุคพระนางซูสีไทเฮา เนื่องจากทรงโปรดทอดพระเนตรงิ้วมาก 

    จากห้องที่จัดแสดงงิ้วมีทางเดินเล็กๆ สองข้างทางมีตู้กระจกซึ่งภายในมีหุ่นเล็กๆ แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับฝิ่นในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งชาวอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ในจีน เนื่องจากต่างชาติขาดดุลการค้าจีน เพราะนำเข้าใบชาจากจีนเป็นจำนวนมากกว่าที่ชายสินค้าให้กับขาวจีน จึงค้าฝิ่นให้กับชาวจีนซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าใบชา ทำให้ชาวจีนติดฝิ่นกันงอมแงมจนได้ฉายาว่า”ขี้โรคแห่งเอเชียตะวันออก” 


สภาพของชาวจีนที่ติดฝิ่น

สมัยนั้นฮ่องเต้เต้ากวงปกครองประเทศจีนส่ง “หลินเจ๋อสวี” มาเป็นผู้ตรวจการทำลายล้างการค้าฝิ่น และฟื้นฟูผู้ติดฝิ่น โดยสั่งห้ามค้า และยึดฝิ่นจำนวนมากมาทำลาย บังคับให้ชาวต่างชาติยกเลิกการค้าฝิ่น ทำให้ชาวต่างชาติเกิดความไม่พอใจนำไปสู่สงครามฝิ่นในที่สุด จีนเป็นฝ่ายแพ้สงครามต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามจำนวนมาก และยกเกาะฮ่องกงให้เป็นเขตปกครองพิเศษของอังกฤษเป็นเวลาถึง 99 ปี


การเจรจายกเลิกการค้าฝิ่น


การทำลายฝิ่น


เมื่อแพ้สงครามชาวจีนยังคงเป็นทาสของฝิ่นไม่ว่ารวยหรือจน

ผู้บรรยายพาเราเดินทะลุออกมาอีกห้องหนึ่งซึ่งยังคงต่อเนื่องจากเรื่องราวของราชวงศ์ชิงมีภาพขนาดใหญ่ของพระราชวังต้องห้าม ตรงหน้าตำหนักไท่เหอซึ่งมีลานกว้างสำหรับขุนนางเข้าเฝ้าองค์ฮ่องเต้ ตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นที่ประทับของฮ่องเต้หลายพระองค์จนกระทั่งสิ้นระบอบกษัตริย์ ผู้บรรยายแนะนำว่าถ้าถ่ายภาพโดยไม่เห็นเท้าก็จะเหมือนว่าเราได้ไปถ่ายภาพในสถานที่จริง พ่อซึ่งเป็นคนเดียวที่ยังไม่เคยไปพระราชวังต้องห้ามจึงถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก


ตำหนักไท่เหอ พระราชวังต้องห้าม

ห้องที่ 19  ราชวงศ์ชิง (จักรพรรดิ์องค์สุดท้าย) 

ในที่สุดก็มาถึงจุดล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในประเทศจีน เมื่อเรามาถึงห้องที่มีฮ่องเต้น้อยปูยีนั่งบนบัลลังก์มังกร ฮ่องเต้เซวียนถ่ง หรืออีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกคือปูยี ครองบัลลังก์ตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 3 ขวบ และอาศัยอยู่แต่ในพระราชวังต้องห้ามนานถึง 16 ปี จึงได้ออกมาเห็นโลกภายนอก ภายหลังนายพลหยวนซื่อไข่ถูกโค่นล้มโดย ดร. ซุนยัดเซ็น ปูยีก็ถูกขับไล่ออกจากวังต้องห้ามเพราะราชวงศ์ชิงเป็นชาวต่างชาติ (แมนจู) เมื่อออกจากวังต้องห้ามทรงกลับไปอยู่วังขององค์ชายชุนซึ่งเป็นพระบิดา ก่อนที่จะอยู่ในอารักขาของสถานทูตญี่ปุ่น
ปูยีมีความสุขช่วงหนึ่งในชีวิตขณะที่อาศัยอยู่ในเมื่องเทียนสินซึ่งเป็นเขตปกครองของญี่ปุ่น ทรงใช้ชื่อว่า “เฮนรี่ปูยี” และใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ต่อมาเมื่อ ดร. ซุนยัดเซน ถึงแก่กรรม นายพลเจียงไคเช็คจึงขึ้นเป็นใหญ่แทนที่ และเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของรัฐบาลจีนต่อจาก ดร. ซุนยัดเซน สถานภาพของปูยีถูกสั่นคลอนเมื่อนายพลเจียงไคเช็คทำลายสุสานพระนางซูสีไทเฮา แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังที่มีต่อราชวงศ์ชิง จึงทรงรับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นมากกว่าประเทศจีน โดยให้เหตุผลว่าญี่ปุ่นมีพระจักรพรรดิอายุไล่เลี่ยกันต่อมาประเทศญี่ปุ่นยึดครองแมนจูเรียมาจากจีนแล้วสถาปนาเป็นประเทศแมนจูกัว และให้ปูยีขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิ สร้างความโกรธแค้นให้แก่รัฐบาลจีน แต่สุดท้ายญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกปูยีจึงถูกรัฐบาลจีนจับตัวมาคุมขังไว้ในศูนย์จัดการอาชญากรสงครามในฟู่ฉวนนานถึง 10 ปี เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งขณะนั้นนำโดยเหมาเจ๋อตุง
ปูยีได้รับการปล่อยตัวออกจากศูนย์ควบคุมเมื่อมีอายุได้ 48 ปี โดยทำงานเป็นคนสวนในสถาบันพฤกษศาสตร์ และในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาได้ทำงานเป็นบรรณาธิการแผนกวรรณกรรมให้กับสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 61 ปี ด้วยโรคมะเร็ง
ทรงเป็นฮ่องเต้ที่ไม่เคยได้เป็นผู้ปกครองสิ่งใดเลย แม้แต่ตัวของตัวเอง เริ่มต้นด้วยการเป็นฮ่องเต้อยู่ในพระราชวังต้องห้าม เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ มีเพียงชีวิตสามัญชนช่วงหนึ่งของชีวิตที่ดูจะมีความสุขในระยะเวลาสั้น เมื่อขึ้นครองราชย์ที่แมนจูกัวกลับยิ่งมีแต่ความหลอกลวงจากคนรอบข้าง และคืนสู่สามัญอย่างยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นฮ่องเต้องค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีจุดจบโดยการนองเลือด เพราะไม่มีใครสู้เพื่อพระองค์ทรงสามารถใช้ชีวิตสามัญชนได้อย่างเรียบง่าย และสง่างามตราบจนวาระสุดท้าย


ฮ่องเต้ปูยี


ห้องที่ 20 ห้องยุคสาธารณรัฐ


          สู่ยุคปล่อยเท้าตัดเปีย ชาวจีนในอดีตผู้หญิงนิยมมัดเท้าตามแบบอย่างสตรีชั้นสูงในราชสำนัก โดยมีจุดเริ่มต้นจากความโปรดปรานของฮ่องเต้สมัยราชวงศ์ถัง และแพร่หลายในหมู่ลูกสาวขุนนาง ในที่สุดก็ลามมาถึงประชาชนเป็นที่นิยมมายาวนานนับเป็นพันปี อย่างไรก็ตามราชสำนักแมนจู หรือราชวงศ์ชิงไม่มีค่านิยมในเรื่องนี้เช่นนี้ ส่วนใหญ่สตรีที่รัดเท้ามักจะเป็นชาวฮั่น แต่ก็มีบ้างที่หญิงแมนจูแอบทำตามชาวฮั่น แม้ว่าจักรพรรดิแมนจูจะสั่งห้ามก็ตาม

          ส่วนการไว้เปียเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการปกครองโดยราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นชาวแมนจู ชาวแมนจูโกนผมครึ่งศีรษะ และไว้เปียยาว ผู้ที่ตัดเปียออกจึงเป็นผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์ชิง เมื่อจีนเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐชาวจีนจึงตัดเปียออกทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ฮ่องเต้ปูยีซึ่งทรงตัดเปียออกด้วยพระองค์เองเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ในพระราชวังต้องห้าม เพราะเบื่อการเป็นหุ่นเชิดของกรมวัง 

การรัดเท้า และไว้เปียของชาวจีนสมัยเก่า



การการตัดเปีย และการปล่อยเท้าของชาวจีนยุคใหม่

          ห้องถัดไปมีรูปปั้น ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงประเทศจีนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐ เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่นำพาประเทศจีนให้ก้าวมาถึงวันนี้ ด้วยความอุตสาหะตั้งแต่ยังหนุ่มของ ดร. ซุนยัดเซ็น เขาทำงานเพื่อการล้มราชวงศ์ชิงโดยอาศัยความร่วมมือจากชาวจีนทั้งใน และนอกประเทศ เช่น ชาวจีนในประเทศไทยก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินการครั้งนั้นด้วย โดยการรวบรวมเงินช่วยเหลือ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็เฝ้าดูอยู่ด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน เมื่อการล้มล้างระบอบการปกครองเป็นผลสำเร็จ ดร. ซุนยัดเซ็น ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของจีน และเป็นสัญลักษณ์ทางการเมื่อระบอบใหม่มาจนกระทั่งปัจจุบัน


ซุนยัดเซ็น

ห้องที่  21 ห้องชาวจีนในประเทศสยาม

       ห้องสุดท้ายคือชาวจีนในสยาม ในห้องประดับด้วยแถบผ้าสีแดงปล่อยยาวลงมาจากเพดานจำนวนมาก บนผ้าเขียนตัวหนังสือเป็นแซ่ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน โดยมีที่มา และความหมายของแต่ละแซ่อยู่ที่ด้านบน ชาวจีนมีแซ่ซ้ำกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนในหมู่บ้านเดียวกันมักจะใช้แซ่เดียวกันทั้งหมด ถ้าเปรียบเทียบกับนามสกุลแล้วประเทศไทยมีความหลากหลายในการแบ่งแยกกว่าประเทศจีนมาก
          พวกเราช่วยกันหา “แซ่เฉิน” ซึ่งเป็นแซ่ของต้นตระกูลของเรา ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่าแซ่ตั๊ง หรือ แซ่ตั้ง และแบบไหหลำว่าแซ่ด่าน  เป็นแซ่ของขุนศรีอุทัยเขตร (โป๊ง สัตย์อุดม) บิดาของขุนศรีอุทัยเขตรมีชื่อว่า กุ๋ยตง แซ่ตั๊ง  กระต่ายเคยได้ยินทวดออกเสียงว่าแซ๊ตั๊ง ไม่ได้ออกเสียงว่าแซ่ตั้ง กระต่ายไม่แน่ใจว่าเป็นสำเนียงระยองหรือว่าเป็นสำเนียงของชาวไหหลำ รู้แต่ว่าคำภาษาจีนที่เรามักใช้กันที่บ้านส่วนใหญ่สำเนียงแปลกกว่าบ้านอื่น เช่น เฮีย ออกเสียว่าเฮี๊ยะ ขนมกุ๋ยช่าย เรียกขนมก๊วย เป็นต้น


ห้องรวมแซ่


แซ่ของเราคือ “เฉิน”

             เมื่อชมครบทุกห้องแล้วเราก็พากันเดินออกมาข้างนอก ซึ่งมีร้านขายสินค้าที่ระลึกอยู่หลายร้าน ระหว่างที่รอแม่เข้าห้องน้ำกระต่ายก็ไปเดินเล่นทัศนานิดหน่อย แต่ไม่ได้ซื้ออะไรเลย พอแม่ออกมาเราจึงเดินออกไปด้านนอกสมทบกับพ่อซึ่งออกไปรออยู่แล้ว ผ่านฝาผนังที่แกะสลักลวดลายสวยงามริมทางเดิน ควรแก่การหยุดชื่นชมอย่างพินิจพิเคราะห์ให้สมกับที่ช่างบรรจงตกแต่งไว้อย่างตั้งใจ



ร้านจำหน่ายของที่ระลึก



ชมผนังริมทางเดินด้านนอก


            ออกมาจากพิพิธภัณฑ์เราเดินชมหมู่บ้านมังกรสวรรค์กันต่อ แม้จะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว แต่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินชมอยู่จำนวนไม่น้อย ร้านค้าบางร้านก็ยังเปิดทำการกันอยู่ โดยเฉพาะร้านขายอาหารหลายแห่งที่มีลูกค้าอุดหนุนอย่างคับคั่ง



หอชมวิว



เซเว่นสาขานี้สวยมาก



สำเพ็งก็มีค่ะ


ทางเดินตรงกลาง


ร้านกาแฟอเมซอนแบบจีนๆ

             ออกจากอุทยานมังกรเราตัดสินใจแวะไหว้พระที่วัดป่าเลไลย์ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก วัดป่าเลไลย์เป็นวัดหลวงชั้นตรีมีชื่อเต็มๆ ว่าวัดป่าเลไลย์วรวิหาร ที่วัดมีลานจอดรถกว้างอยู่หน้าสนามโรงเรียนวัดป่าเลไลย์ ริมถนนหน้าวิหารก็ยังมีของขายคับคั่งทั้งที่ค่อนข้างเย็นมากแล้ว ถ้าเทียบกับวัดหลวงพ่อโสธรที่จังหวัดฉะเชิงเทราเวลาอย่างนี้จะค่อนข้างว่างคนแล้ว
          เราจุดธูปเทียนบูชาพระกันที่หน้าวิหาร แล้วจึงเข้าไปด้านในเพื่อกราบพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทององค์ใหญ่ประทับห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับในป่ารักขิตวันเพื่อปลีกวิเวกจากการวิวาทของสงฆ์โดยมีช้าง และลิง เป็นผู้คอยอุปัฏฐากในป่าใหญ่ พระพุทธรูปปางนี้จะมีช้างใช้งวงจับกระบอกไม้ไผ่ และลิงถือรวงผึ้งถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่ในที่นี้วิหารสร้างชิดองค์พระมาก ถึงขนาดด้านซ้ายติดกับองค์พระจนชิด และพื้นที่ในวิหารก็มีน้อย ดังนั้นจึงมีเพียงภาพวาดลิง และช้างที่ด้านข้างผนังซ้ายขวาเท่านั้น ส่วนรูปปั้นลิง และช้างอยู่ด้านนอกวิหารแทนที่จะอยู่ด้านใน


พระพุทธรูปปางปาลิไลย์


ช้าง และลิงด้านนอกวิหาร

เมื่อแหงนมองหน้าจั่วของวิหารจะเห็นตราพระลัญจกรมหามงกุฎซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 เนื่องจากทรงเคยเสด็จธุดงค์มาที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ยังทรงผนวช และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์บูรณปฏิสังขรณ์ ทำให้กระต่ายนึกถึงเรื่องเล่าที่ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีประสงค์จะเสด็จจังหวัดสุพรรณบุรี แต่มีผู้คัดค้านว่า “ห้ามเจ้าไปสุพรรณ จะทำให้มีอันเป็นไป” แต่ในที่สุดก็เสด็จไปจนได้แม้ว่าทนทางจะลำบากเนื่องจากเสด็จมาทางเมืองเพชรบุรี เมื่อเสด็จไปถึงปรากฏว่าพระยาสุพรรณบุรีมาหนีหายไปเสียก่อน  สาเหตุเพราะคอรัปชั่นเอาไว้มากจึงหนีความผิด มีคนมาฟ้องร้องกับกรมพระยาดำรงฯ กันมากมาย

ตามประวัติของวัดป่าเลไลย์กล่าวว่ารัชกาลที่ 4 เคยเสด็จธุดงค์มาที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ยังทรงเป็นภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ แสดงว่าคงจะไม่ทรงเชื่อถือคำกล่าวที่ว่าห้ามเจ้าไปสุพรรณ หรืออาจเชื่ออีกทางหนึ่งว่าคำกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังสมัยของพระองค์ เพราะกรมพระยาดำรงฯ ทรงเป็นโอรสในรัชกาลที่ 4 และที่ไม่ต้องการให้เจ้าเสด็จสุพรรณบุรีก็คงเพราะว่ามีคอรัปชั่นนั่นเอง


ตราพระลัญจกรมหามงกุฏ

       ออกจากวัดป่าเลไลย์ตามโปรแกรมที่วางไว้กระต่ายคิดว่าจะชวนครอบครัวของเราไปทานอาหารริมแม่น้ำ แต่เนื่องจากบ้านงานที่เราไปกันเมื่อเช้าเชื้อเชิญให้ไปงานเลี้ยงช่วงค่ำอีกครั้ง เราจึงมุ่งหน้าสู่อำเภอบางปลาม้ากันอีกรอบ ขณะนั้นเริ่มพลบค่ำแล้วอากาศจึงเริ่มเย็นขึ้นอีก ปีนี้เป็นปีที่มีหน้าหนาวยาวนานกว่าปีอื่นๆ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี ดังนั้นเราจึงเตรียมเสื้อผ้าอุ่นๆ กับมาพอสมควร 

     ที่บ้านงานมีการตั้งเวทีไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า แม้จะเป็นงานเลี้ยงเล็กๆ ในครอบครัว แต่ก็มีการว่าจ้างวงดนตรี และหางเครื่องอย่างครบครัน ลูกหลานบ้านนี้ดูจะมีสายเลือดศิลปินกันแทบทุกคน เพราะร่วมแจมกับวงดนตรี ทั้งเป็นพิธีกร ร้องเพลง เด็กเล็กๆ ก็ขึ้นเวทีเต้นเป็นหางเครื่องรับทรัพย์จากบรรดาญาติมิตรจนกระเป๋าตุงไปตามๆ กัน


การแสดงบนเวทีที่บ้านงาน


นักร้องเสียงดีน้องภูมิลูกชายเจ้าของบ้าน


          อาหารโต๊ะจีนในงานเลี้ยงวันนี้ก็อร่อยเป็นพิเศษกว่าโต๊ะจีนทั่วไป และที่ดีเป็นพิเศษก็คือทุกอย่างนิ่มเหมาะกับแม่ซึ่งช่วงนี้ฟันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นักมักมีปัญหาให้การขบเคี้ยวอยู่บ่อยครั้ง
          เราร่วมสนุกในงานเลี้ยงจนได้เวลาอันสมควรจึงลาเจ้าภาพเพื่อกลับไปพักผ่อนที่โรงแรม ซึ่งเมื่อไปถึงกระต่ายก็เริ่มเห็นนักกีฬาเดินเข้าออกโรงแรมอยู่บ้างประปราย เพราะวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ห้องที่กระต่ายพักหมายเลข 6041 เป็นห้องที่อยู่ริมสุดดังนั้นจึงมีหน้าต่าง 2 ด้าน และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือมองเห็นหอคอยบรรหารแจ่มใสที่เปิดไฟสวยงามยามค่ำคืน
          ไม่นานนักก็มีเสียงเคาะประตูห้องนอน เป็นไก่โต้งนั่นเองที่มาเคาะเรียก ในมือมีซองสีขาวถือมาด้วย 2 ซอง กับนาฬิกาพก 1 เรือน เนื่องจากในช่วงปีใหม่ไก่โต้งเดินทางไปเที่ยวฮ่องกง ดังนั้นจึงยังไม่ได้สวัสดีปีใหม่พ่อกับแม่อย่างเป็นทางการจึงใช้โอกาสนี้ ทำเซอร์ไพรส์เล็กๆ ด้วยการเตรียมของขวัญไว้ให้ ในซองมีเงินสดจำนวนหนึ่งเท่าๆ กันทั้ง 2 ซอง ของแม่พิเศษกว่าตรงที่ได้นาฬิกาพกด้วย อันที่จริงเงิน และของไม่ได้มีค่าต่อจิตใจมากไปกว่าการให้ด้วยความรัก แม่กับพ่อจึงให้เงินสดจำนวนหนึ่งแก่ไก่โต้งเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ด้วยเช่นกัน
ไก่โต้งบอกทีหลังว่าลงไปที่รถอีกครั้งเพื่อนำของมาให้พ่อกับแม่ แต่ขึ้นลิฟท์ไม่ได้เพราะมีนักกีฬานับร้อยคนกำลังรอลิฟท์อยู่ ดังนั้นจึงต้องออกกำลังกายยามค่ำเดินขึ้นบันได 6 ชั้นกลับขึ้นมา  นานแล้วที่ครอบครัวของเราไม่ได้มาเที่ยวกันอย่างนี้ แม้ว่ากระต่ายจะชอบอยู่กับที่มากกว่าที่จะไปโน่นมานี่บ่อยๆ แต่การที่ได้อยู่ที่ไหนก็ได้สักแห่งที่มีเรา 5 คน อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวเท่านี้ก็เป็นความสุขใจอย่างยิ่งแล้ว
กระต่ายสอดตัวใต้ผ้าห่มอุ่น ปล่อยใจล่องลอยคิดถึงตลาดร้อยปีสามชุกที่จะไปในวันพรุ่งนี้จนหลับไป



หอคอยบรรหารแจ่มใส

5 ม.ค. 2557
          เช้าวันใหม่คนที่ตื่นก่อนใครก็คือแม่ ซึ่งลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวก่อนใครๆ ประหนึ่งเป็นโค้ชจะคุมนักกีฬาทีมชาติไปซ้อมวิ่ง กระต่ายกับพ่อซึ่งพักห้องเดียวกันจึงเตรียมตัวเพื่อที่จะลงไปทานอาหารพร้อมกัน 3 คน ก่อนไก่โต้งและการ์ตูนจะตามมาสมทบภายหลัง เมื่ออิ่มกันเรียบร้อยดีแล้ว เราก็ไปเช็คเอาท์ที่เคาท์เตอร์โรงแรม เตรียมออกเดินทางมุ่งสู่ตลาดร้อยปีสามชุกกันทันที

          ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นจากอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ์ และอำเภอครีประจันต์ เราก็มาถึงตลาดร้อยปี อำเภอสามชุก  ที่ลานจอดรถยังมีที่ว่างมากมายให้เราเลือกจอดรถได้ใกล้ๆ กับทางเข้าตลาด


พร้อมออกเดินทาง


ยิ้มสดใสที่หน้าตลาดสามชุก

            วันนี้แม่แขวนนาฬิกาพกที่ไก่โต้งให้ เจตนาที่จะให้ไก่โต้งภูมิใจ และแม่ก็ชอบนาฬิกามากจริงๆ  เราเข้าไปเดินเตร็ดเตร่กันในส่วนของตลาดสามชุก ซึ่งยังจัดเตรียมของขายกันไม่เรียบร้อยเพราะยังเช้าอยู่มาก เราจึงเดินเลยไปที่ตลาดสดยามเช้าซึ่งอยู่ไม่ห่างกันเท่าไรนัก ได้ซื้อขนมครก และของกินของฝากหลายอย่าง เพราะนอกจากรสชาติจะดีแล้วยังราคาสมเหตุสมผลอีกด้วย จนไก่โต้งกับการ์ตูนต้องนำของไปใส่รถกันก่อนหนึ่งรอบ
          ตลาดร้อยปีสามชุกนับว่าเป็นตลาดที่กว้างใหญ่มากกว่าตลาดโบราณแห่งอื่นๆ ที่กระต่ายเคยไป ทั้งๆ ที่ใหญ่แต่กลับมีระเบียบ และให้ความรู้สึกเป็นกันเอง แม่ต่อรองราคาของแทบทุกร้านที่เราเข้าไปซื้อ และก็ได้รับส่วนลดทุกร้านที่ต่อเสียด้วย ไม่ว่าจะลดได้มากหรือน้อยคนขายก็ยินดีลดราคาให้อยู่เสมอ กระต่ายก็ไม่รู้ว่าแม่ต่อเก่งหรือคนขายใจดีกันแน่ 


บะจ่างร้อนๆ


สาโทก็มีค่ะ

     กระต่ายได้ของถูกใจมากอย่างหนึ่งที่ตลาดแห่งนี้ คือตระกร้าใส่ของตามปกติกระต่ายมักมีตระกร้าใส่อาหาร และของจิปาถะถือมาที่ทำงานด้วยเสมอ เป็นตระกร้าหวายที่มีหูหิ้วโค้งดังนั้นเวลาจัดของชิ้นใหญ่ๆ ลงไปจึงมักจะใส่ไม่สะดวกเนื่องจากต้องเอียงของชิ้นนั้นเสียก่อนเสมอ แม่เคยมีตระกร้าหวายที่มีหูพับได้อยู่ใบหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันกระต่ายก็ไม่เคยเห็นตระกร้าแบบนั้นอีก จนเมื่อไม่นานมานี้ได้เห็นอีกครั้งในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งติดราคาขายไว้ถึง 800 บาท ปรากฏว่าที่มาพบในวันนี้ติดราคาไว้เพียง 260 บาทเท่านั้น ดังนั้นกระต่ายจึงควักกระเป๋าจ่ายอย่างสบายใจ แถมคนขายยังลดราคาให้อีกเหลือเพียง 250 บาทอีกด้วย และยังยุว่าควรจะซื้อใบใหญ่ๆ โดยบอกว่า “เตี่ยสอนไว้ว่าซื้ออะไรให้ซื้อใหญ่ๆ” กระต่ายคิดว่ามันก็จริงสำหรับบางอย่าง ตระกร้าร้านนี้มี 3 ขนาด ใบที่เล็กที่สุดน่าเอ็นดูมาก แต่คงใส่ของได้น้อยเกินไป ส่วนใบใหญ่ใส่ของได้มากก็จริงอยู่แต่น่าจะเกะกะ และเกินความน่าเอ็นดูไปหน่อย ดังนั้นจึงเลือกที่จะซื้อเพียงขนาดกลางมา 1 ใบ


ตระกร้าแบบนี้ที่หามานาน


แผนที่ตลาดร้อยปีสามชุก   
http://www.paiduaykan.com

        เดินกันพอเหนื่อยเราก็มานั่งพักกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง นั่งดูดชามะนาว มองดูผู้คนเดินผ่านไปมา เพราะเวลานี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากันมากแล้ว จู่ๆ การ์ตูนก็ถามขึ้นมาว่า “กินข้าวขาหมูกันไหม?” กระต่ายก็รู้สึกสงสัยเพราะเราเพิ่งกินอาหารกันไปหลายอย่างจนอิ่ม ปรากฏว่าที่ร้านมีป้ายเก่าเขียนว่าข้าวขาหมูจานละ 2 บาท อันที่จริงร้านนี้ไม่มีข้าวขาหมูขายแต่ในอดีตคงจะเคยขายมาก่อน สมัยที่กระต่ายยังเด็กจำได้ว่าก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาทเท่านั้น เมื่อ 20 กว่า ปีที่แล้ว ปัจจุบันชามขนาดเดิมราคาก็ราวๆ 30-35 บาท 


กาแฟโบราณ

         ร้านกาแฟที่ตลาดสามชุกมีอยู่ด้วยกันหลายร้าน ซอยแรกด้านหน้าตลาดก็เป็นร้านใหญ่อยู่ตรงหัวมุมถนนเลียบนที มีคนนั่งเต็มทุกโต๊ะลักษณะเป็นคนท้องถิ่นที่ตั้งสภากาแฟยามเช้า


สภากาแฟสามชุก

           ร้านอาหารที่ดูจะสะดุดตามากๆ คือร้านก๋วยเตี๋ยวที่เรียงรายอยู่เต็มซอย ที่ว่าสะดุดตาก็เพราะแทบทุกร้านมีลูกชิ้นขนาดยักษ์โชว์ไว้หน้าร้าน และไม่ใช่แต่โชว์เฉยๆ เขาขายกันด้วย มีทั้งขนาดธรรมดา และที่ใหญ่เท่าหัวคน กระต่ายเห็นแล้วอิ่มตั้งแต่ยังไม่ได้กินเลยทีเดียว
         เราเดินผ่านบ้านโค้กซึ่งข้างในมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโค้กโชว์อยู่มากมาย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน น่าจะเรียกว่าพิพิธภัณฑ์โค้กก็เห็นจะไม่ผิด


บิ๊กบอล



บ้านโค้ก

        ใกล้กับบ้านโค้กคือพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ซึ่งเป็นนายภาษีอากรคนแรกของอำเภอสามชุก และท่านเป็นผู้จัดสรรพื้นที่ตลาดให้กับชาวสามชุกทำมาหากินกันมาได้จนถึงปัจจุบันนี้อีกด้วย กระต่ายคิดว่าท่านคงจะเป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้ามากทีเดียวในสมัยนั้น เพราะตลาดสามชุกที่มาเห็นในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาดแนวยาวขนานไปกับริมแม่น้ำเหมือนกับตลาดโบราณอื่นๆ แต่เป็นจัดล็อกเป็นระเบียบราวกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าแต่ละร้านก็ค่อนข้างจะอยู่ในสภาพดีแม้ว่าจะอยู่มานานถึงร้อยปีแล้ว และมองดูสะอาดตา ยิ่งบวกกับอากาศที่เย็นสบายอย่างวันนี้ด้วย กระต่ายจึงรู้สึกว่ารื่นรมย์เป็นพิเศษ
          เราเข้ามาเยี่ยมชมบ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งกว้าง 3 คูหา ชั้นล่างจัดแสดงโมเดลตลาดสามชุก และรูปภาพเก่าๆ แขวนไว้เต็มฝาผนัง ที่สำคัญคือมีตู้เย็นโบราณตั้งอยู่ใบหนึ่ง กระต่ายคาดว่าคงจะเป็นตู้เย็นใบแรกของอำเภอสามชุกอย่างแน่นอน มัคคุเทศก์นำเราชมบ้านอย่างเป็นกันเอง ซึ่งสาระสำคัญส่วนมากจะอยู่ที่ชั้นบนของบ้าน 


พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์


โมเดลตลาดสามชุก


ใกล้เข้ามาอีกนิด



ตู้เย็นโบราณ

ชั้นบนบ้านของขุนจำนงฯ ปูด้วยกระเบื้องที่สั่งมาจากอิตาลี สภาพที่เห็นยังค่อนข้างดีมาก ภายในบ้านยังมีข้าวของเครื่องใช้อยู่อย่างครบถ้วน และมีลักษณะเป็นเหมือนบ้านจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ทำไว้เพื่อโชว์ กระต่ายคิดว่าน่าจะใช้ถุงหุ้มรองเท้าเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรที่เราไปเที่ยวชมเมื่อวานนี้ เพื่อไม่ให้พื้นสกปรกเสียหาย 

บนผนังมีรูปภาพมากมายซึ่งใช้ภาพเก่าทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงแค่อัดภาพมาประดับบ้านเท่านั้น มีภาพของท่านขุน และครอบครัว รวมทั้งมีภาพบรรพบุรุษของท่านขุนเป็นชาวจีนไว้เปียยาว ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นของหลานสาวของขุนจำนงฯ แต่เวลานี้เธออายุมากแล้วจึงย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กระต่ายเดาว่าท่านจะต้องเป็นผู้ที่รู้คุณค่า และให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งนี้ ท่านใจดีมากที่ให้บุคคลทั่วไปเข้าชมบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ต้องขอขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ


ขุนจำนงจีนารักษ์


ครอบครัวขุนจำนงจีนารักษ์

           มัคคุเทศก์พาเข้าไปชมถึงในห้องนอนของขุนจำนงฯ ซึ่งเป็นเตียงสี่เสาขนาดย่อมๆ มีสวิตช์ไฟโบราณสำหรับเปิดไฟหัวเตียงที่ยังคงใช้การได้จริง ฝาห้องด้านที่ชิดกับเตียงมีปืนยาวแขวนอยู่กระบอกหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าแขวนไว้จริงเมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า และมีพัดลมโบราณตั้งไว้ตัวหนึ่งทางหัวเตียง ท่านคงเป็นคนทันสมัยโก้เก๋ทีเดียวเพราะเป็นพัดลมชนิดสูงเสียด้วย ไม่ใช่พัดลมตั้งโต๊ะอย่างธรรมดา
          ระเบียงทางเดินส่วนหน้าของบ้านมีหน้าต่างเรียงเป็นแถวยาว และเปิดหมดทุกบานจึงทำให้ภายในบ้านโปร่งน่าสบายทีเดียว


ห้องนอน


สวิตช์ไฟ


ระเบียงชั้นบนของบ้าน

          โต๊ะเขียนหนังสือตั้งไว้ที่มุมหนึ่งของบ้าน มองดูสงบสบายคงจะเป็นมุมที่ท่านขุนนั่งคิด หรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับการงานของท่าน บ้านของขุนจำนงฯ หลังนี้ กระต่ายคิดว่าเป็นบ้านที่น่าอยู่มากทีเดียว ไม่ใหญ่โตรโหฐานจนเกินไปนัก เป็นบ้านหลังย่อมๆ ที่น่าจะอยู่สบาย การจัดตกแต่งก็ดูมีรสนิยมสมกับเป็นบ้านคหบดี ทำให้กระต่ายนึกถึงบ้านสัตย์อุดม ซึ่งเป็นบ้านของบรรพบุรษของกระต่ายซึ่งได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเช่นกัน ชื่อว่าขุนศรีอุทัยเขตร (โป๊ง สัตย์อุดม) ผู้เป็นต้นแซ่ตั๊งท่านเป็นทวดของแม่ และท่านเจ้าของคนปัจจุบันก็กรุณาให้ใช้บ้านสัตย์อุดมเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นกัน 


หลานสาวขุนจำนงฯ เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน (ภาพในวัยสาว)



ส่วนหนึ่งของบ้านที่มีโต๊ะเขียนหนังสือ

             เมื่อชมบ้านจนพอใจแล้วกระต่ายให้สตางค์ค่าขนมแก่มัคคุเทศก์น้อย มัธยมปลายไปเล็กน้อย เป็นรางวัลที่นำชมบ้านอย่างตั้งใจ
          เดินออกจากบ้านขุนจำนงฯ มาได้ไม่นานก็พบว่ามีนักเรียนมาหารายได้ในวันหยุดอีก 1 คณะ คราวนี้เป็นวงดนตรีไทยวงใหญ่ มีเครื่องดนตรีครบชิ้น เมื่อเห็นเราหยุดถ่ายภาพเด็กน้อยก็เริ่มขับกล่อมเราด้วยเสียงเพลงทันที โดยมีเสียงเอื้อนนำมาก่อนแล้วเครื่องดนตรีจึงเล่นตาม เรายืนฟังกันอยู่ครู่ใหญ่ แล้วแม่ก็หยอดสตางค์ลงในกล่องด้านหน้าเพื่อเป็นกำลังใจในการแสดง


วงดนตรีไทยวงใหญ่โดยคนตัวเล็ก

      เราไม่ได้อยู่ฟังจนจบพอเริ่มมีคนมาฟังเพิ่มเราก็เลยเคลื่อนขบวนกันต่อไป ป้ายต่อไปที่ขบวนของเราไปหยุดชมก็คือร้านขายโบว์มัดผม ซึ่งเป็นงานแฮนด์เมค การ์ตูนสนใจเป็นพิเศษจึงอุดหนุนแล้วให้คนขายช่วยทดลองมัดผมให้ด้วย พอพวกเรายืนมองก็มีคนมายืนมุงดูกันเต็มไปหมด การ์ตูนเลยกลายเป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่สนใจจะทำผมทรงเดียวกัน


นางแบบผมคนสวย

ขณะที่กระต่ายกำลังยืนเลือกผ้าพันคอที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง มีอะไรบางอย่างมาสะกิดที่ขาพอก้มลงมองก็พบว่ามีแมวอยู่ในกรงจำนวนหลายตัว มันยื่นมือออกมาสะกิดเรียกร้องความสนใจ นอกกรงก็มีแมวอีก 2 ตัววิ่งเล่นไปมาน่าเอ็นดู เจ้าของร้านบอกว่าให้เราเล่นกับมันได้ กระต่าย ไก่โต้ง และการ์ตูนก็เลยอยู่เล่นกับแมวพักใหญ่ กระต่ายก็ได้อุดหนุนผ้าพันคอมาผืนหนึ่ง นี่อาจจะเป็นวิธีการขายของที่ดีวิธีหนึ่งก็เป็นได้ ^_^


กลุ่มแมว


นี่ก็อีกหนึ่งตัว


       เมื่อเดินชมตลาด และซื้อของกันจนเป็นที่พอใจแล้ว พวกเราช่วยกันจัดเรียงของบนรถที่มีมากจนเราเกือบไม่มีที่นั่ง และยังต้องขอซื้อน้ำแข็งบดจากร้านค้าเพื่อนำมาแช่ของสดในกระติกที่เตรียมมาอีกด้วย  จากนั้นไก่โต้งก็พาเราเดินทางมุ่งหน้ากลับบ้าน ....

    การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้เติมเต็มความรักความเข้าใจในครอบครัว ท่ามกลางมิตรภาพ และคุณค่าของสิ่งดีๆ ในจังหวัดที่ทุกคนควรได้ไปเยือนแห่งนี้ “สุพรรณบุรี เมืองที่ได้ไปแล้ว ก็ต้องไปอีก

                                            สวัสดีค่ะ